รูปแบบครอบครัวที่เยอรมัน

รูปแบบของครอบครัวที่เยอรมัน

สมัยก่อนจะมีการแต่งงานจดทะเบียนกันถูกต้องตามกฎหมาย และผู้ชายจะเป็นหัวหน้าครอบครัวคือเป็นคนออกไปทำงานหาเงินเข้าบ้าน ส่วนผู้หญิงจะมีหน้าที่เลี้ยงลูกและทำงานบ้านทุกอย่าง เค้าจะเรียกรูปแบบครอบครัวแบบนี้ว่า Traditionelle Familie (ครอบครัวแบบเก่านั่นเอง)   นิยมมีลูกกันมากกว่า 2 คนขึ้นไป และจะอยู่กันไปจนแก่เฒ่า ตัวอย่างจากที่เราเห็นก็คือโอม่านี้แระ แต่งงานกับสามีตอนอายุยี่สิบกว่าๆ อยู่กันจนสามีเสียชีวิตตอนอายุ 89 ปี ส่วนตัวโอม่าท่านเองก็แปดสิบกว่าเหมือนกัน  รวมชีวิตแต่งงานเกิน 60 ปี  ท่านดูแลสามีดูแลลูกและทำงานบ้านทุกอย่าง เรียกได้ว่า แม่บ้านเต็มตัว   โอม่าท่านบอกว่า การหย่าร้างหรือแยกกันอยู่เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ รวมถึงสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ของท่านก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน  ไม่มีใครหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ นี่เป็นรูปแบบครอบครัวสมัยก่อน หนักนิดเบาหน่อยต้องอภัยให้กันและอยู่ด้วยกันไปจนแก่เฒ่า เราคิดว่าไม่น่าจะต่างจากไทยมากนัก สมัยก่อนไทย ผู้ชายก็เป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ประมาณนี้

แต่ปัจจุบันนี้ การแต่งงานแบบจดทะเบียนไม่ได้สำคัญและเป็นที่นิยมกับคนรุ่นใหม่มากนัก และรูปแบบของการใช้ชีวิตครอบครัวก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก  ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างคนต่างทำงานหาเงินเข้าบ้านเหมือนกัน เค้าจะเรียกว่า Doppelverdiener Familie   ไม่มีใครเป็นหัวหน้าใคร เท่าเทียมกัน  เรารู้จักแม่ท่านหนึ่ง เธอทำงานเต็มเวลาที่ธนาคาร เป็นผู้หญิงเก่งคนนึงทีเดียว มีลูกสองคน คนโตอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกเรา คนเล็กเพิ่งจะ 9 เดือน ส่วนสามีเธอก็ทำงานเหมือนกัน แต่เธอไม่แต่งงานจดทะเบียนนะ  อยู่กันแบบพาร์ทเนอร์ Partner  ที่ไม่จดทะเบียนเพราะต่างคนต่างทำงานหาเงินเองได้นั่นเอง  อีกอย่างเรื่องการหย่าที่นี่เป็นอะไรที่ยุ่งยากมากๆ คือจะมีเรื่องของกฏหมายเอกสารเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก  ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน เอกสาร ภาษี เรื่องค่าเลี้ยงดู ฯลฯ  อีกทั้งยังไม่สามารถหย่ากันได้ในทันที ต้องมีการแยกกันอยู่ก่อนอย่างน้อย 1 ปี และต่อจากนั้นก็ต้องไปยื่นเรื่องหย่ากันที่ศาลเพื่อให้ศาลตัดสิน โดยการหย่าที่นี่จะต้องมีการจ้างทนาย (Rechtsanwalt) เท่านั้นด้วย ค่าจ้างคิดเป็นชั่วโมง กว่าจะจบเรื่องหย่า น่าจะหมดเงินหลายพันหลายหมื่นอยู่นะ

เรารู้จักหลายคนเหมือนกันที่อยู่กับแบบไม่จดทะเบียนหรืออยู่กันแบบพาร์ทเนอร์ เช่นว่า ต่างคนอาจจะต่างเลิกรากับคนเก่า และลูกๆ ก็โตหมดแล้ว จึงมาเจอกันเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์  เพราะวันธรรมดาต่างคนต่างทำงาน ต่างคนต่างมีบ้านของตัวเอง เค้าเรียกว่า Wochenendbeziehung  (ความสัมพันธ์เฉพาะเสาร์อาทิตย์ นี้เราเรียกเอาเองนะ 555)

แล้วก็ยังมีความสัมพันธ์ของคนที่ไม่มีลูกและอยู่กันแบบพาร์ทเนอร์  แบบชายหญิงหรือแบบเป็นเพศเดียวกัน ชายชาย หญิงหญิง ประมาณนี้   เค้าจะเรียกว่า Kinderlose Ehe oder Partnerschaft  หรือถ้าเป็นเพศเดียวกันอยู่ด้วยกันและมีลูกอยู่ด้วย เช่น ชายชาย มีลูก หญิงหญิงมีลูก  ซึ่งอาจจะขอมาเลี้ยงหรือเกิดจากวิธีทางการแพทย์ เราไม่อาจจะรู้ได้ เค้าจะเรียกรูปแบบนี้ว่า Regenbogenfamilie (ครอบครัวรุ้งกินน้ำ 555)

สุดท้ายรูปแบบครอบครัวที่เรารู้จักคนที่เค้าใช้รูปแบบชีวิตครอบครัวแบบนี้คือ ต่างคนต่างมีลูกของตัวเองมาก่อน แล้วก็มาอยู่ด้วยกันและมามีลูกด้วยกันอีก  และอยู่ร่วมกันในบ้านหลังเดียวกัน ทั้งลูกของเธอ ลูกของฉัน และลูกของเรา  หรือ ลูกของเธอ หรือลูกของฉัน มาอยู่ด้วยในช่วงวันหยุด วันปิดเทอม กับลูกของเรา ที่บ้านของเรา ประมาณนี้ ไม่งงนะ ซึ่งจะมีทั้งการอยู่แบบจดทะเบียนและไม่จดทะเบียนก็ได้ แล้วแต่ แต่ส่วนใหญ่คนที่เรารู้จักเค้าจะไม่ได้จดทะเบียนกัน เพราะเวลาเลิกกันมันยุ่งยากเหมือนที่เราบอกไว้ต้องจ้างทนายวุ่นวาย   เค้าจะเรียกรูปแบบครอบครัวนี้ว่า Patchworkfamilie
เราเคยรู้จักผู้หญิงชายคู่หนึ่ง เค้าบอกเค้ามีลูก 6 คน เรางงมาก เพราะยังดูยังไม่แก่ทั้งคู่ ที่ไหนได้ ต่างคนต่างมีลูกติดคนละ 3 คนนั่นเอง และก็มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แต่ลูกๆ สลับกันไปอยู่กับสามีเก่าบ้าง ภรรยาเก่าบ้าง  หรืออยู่กับ โอม่า โอป้า (ปู่ย่าตายาย)  เรายังคิดเลยว่าถ้าพวกเขามีลูกของตัวเองกันอีก นี่เป็นครอบครัวใหญ่ที่วุ่นวายมากจริงๆ นะ แล้วช่วงคริสมาร์ตที่ทุกคนต้องฉลองกันในครอบครัวนี่จะยังไง คงสนุกวุ่นวายน่าดู ลูกเธอ ลูกฉัน ลูกเรา สามีเก่าเธอ ภรรยาเก่าฉัน สามีใหม่ฉัน ภรรยาใหม่เธอ เค้าจะมาฉลองร่วมกันมั้ยนะ โฮ๊ะๆๆๆ คงวุ่นวายน่าดูนะ  555 😀

ในความคิดเรานะ ที่เยอรมันสังคมรูปแบบการใช้ชีวิตครอบครัว ค่อนข้างเปิดกว้าง หลายหลายเพศ หลากหลายรูปแบบ ไม่มีการปิดกั้น และพวกเขาเองก็มองว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด เช่น การมีลูกติด แต่มาอยู่ด้วยกัน และมีลูกของเรา หรือการติดต่อกับสามี/ภรรยา เก่า ในเรื่องของลูก  ก็ทำกันเป็นปกติ และส่วนใหญ่จะไม่ค่อยจดทะเบียนผูกพันกันตามกฎหมาย เพราะเวลาหย่ายุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก บทความนี้เขียนจากประสบการณ์ที่เราได้คุยกับคนเยอรมันที่เรารู้จักนะ เช่น จาก 10 คน มี 6 คน ที่อยู่ด้วยกันแบบไม่จดทะเบียน ปกติเราชอบคุยกับคนทุกเพศ ทุกวัย ถ้ามีโอกาส บางทีเค้าก็เล่าเรื่องเราวของพวกเค้าให้เราฟัง มันก็ทำให้เราได้ความรู้ไปด้วยถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่นี่ ก็เลยอยากเขียนออกมาเล่าสู่กันฟังนะจ๊ะ 😀

Shopping Cart