วันนี้อรญาจะแชร์ข้อมูลการเปิดบัญชีธนาคาที่เยอรมันให้ทุกคนได้รู้เป็นข้อมูลกันนะคะ การเปิดบัญชีธนาคารที่เยอรมันก็คล้ายๆ กับที่ไทย โดยใช้เอกสารคือ บัตรประจำตัวประชาชน Personalausweis หรือ Reise pass พาสปอร์ต สำหรับชาวต่างชาติ โดยนำบัตรของเราไปติดต่อที่ธนาคารที่ตั้งอยู่ในเมืองที่เราอยู่ได้เลย แนะนำว่า เราอยู่เมืองไหน ให้เปิดบัญชีกับธนาคารในเมืองนั้น ที่อาจจะใกล้บ้านเราและเดินทางสะดวกจะดีที่สุด เพราะจากประสบการณ์ ธนาคารเดียวกัน แต่อยู่คนละเมืองข้อมูลไม่ออนไลน์ เค้าจะแยกกันเลย เช่น ถ้าเราทำบัตรหาย หรือต้องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอะไร เราต้องไปติดต่อเฉพาะธนาคารสาขาที่เราเปิดบัญชีไว้เท่านั้น
อีกเรื่องที่เจอจากประสบการณ์ตัวเองคือ การโอนเงินที่เยอรมันจะไม่เป็น real time คือไม่เหมือนเมืองไทย เวลาเราไปโอนเงินให้ใครหรือใครโอนเงินให้เรา ไม่ว่าจะเป็นที่เคาร์เตอร์ธนาคารหรือโอนเงินผ่านแอปจากมือถือ ทางผู้รับโอนหรือผู้รับปลายทางจะได้รับเงินเข้าบัญชีทันที เรียกว่าเช็คได้เลย แต่ที่เยอรมันไม่ใช่แบบนั้น เช่น ถ้ามีคนโอนเงินที่เคาร์เตอร์ธนาคารให้อรในเช้าวันนี้ อรจะได้รับเงินเข้าบัญชีที่สามารถเช็คได้ อาจจะเป็นวันพรุ่งนี้ตอนเย็น หรือข้ามไปอีกวันตอนเช้าเลย เรียกว่าใช้เวลา 2-3 วันเป็นอย่างน้อย
การเปิดบัญชีธนาคารที่เยอรมัน จะมีบัญชีหลักๆ สอง ประเภท คือ Girokonto (บัญชีกระแสรายวัน) Sparkonto (บัญชีออมทรัพย์) การเปิดบัญชีที่เยอรมันจะตรงข้ามกับไทย คือถ้าเรามีการรับเงินเข้า เช่นเงินเดือน และแต่ละเดือนมีการหักค่าใช้จ่ายผ่านบัญชีธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเช่า ฯลฯ เราจะต้องเปิดบัญชีเป็น Girokonto เท่านั้น ถ้าเป็นไทยเราจะเปิดเป็นออมทรัพย์ แต่ที่นี่ตรงข้ามนะจ๊ะ
วัฒนธรรมของคนเยอรมันส่วนใหญ่จะใช้ระบบโอนผ่านบัญชีธนาคารแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินเดือน หรือ การหักค่าใช้จ่ายที่ต้องหักเป็นประจำทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเช่า ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าเทอม ฯลฯ เป็นต้น ตั้งแต่อรมาอยู่เยอรมันยังไม่เคยเห็นเคาร์เตอร์เซอร์วิสเหมือนเมืองไทยที่ให้เรานำบิลไปจ่ายเลย (ถ้าใครเห็นช่วยมาคอมเม้นท์แชร์ให้รู้ด้วยน๊า) ที่นี่จะใช้ระบบที่เรียกว่า Überweisung คือการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารแทบจะทุกอย่าง รวมถึงการชำระเงินที่เค้าจะมีใบเสร็จ Rechnung ส่งมาให้ที่บ้านเพื่อให้เรานำเงินไปโอนเข้าบัญชี เช่น ล่าสุดอรไปทำฟันที่ต้องจ่ายเงินเอง พอทำเสร็จก็ไม่ต้องจ่ายเงิน หลังจากนั้น 1-2 อาทิตย์ ทางคลีนิคจะส่งใบเสร็จ Rechnung มาให้ที่บ้าน เพื่อให้อรนำเงินไปโอนเข้าบัญชีของคลีนิคต่อไป ระบบนี้ไม่น่าจะใช้ได้ที่เมืองไทยนะ 555
สิ่งที่แตกต่างจากไทยอีกอย่างคือ บัญชี Girokonto นี้เราจะต้องจ่าย Kontoführung คือค่าธรรมเนียมบัญชีธนาคาร ที่เราต้องจ่ายทุกๆ เดือน จะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร ซึ่งตรงนี้มันคือค่าที่เราทำธุรกรรมในแต่ละเดือนนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีอีกที่เราจะต้องจ่ายคือ Gebühren ค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ถ้าเราไปถอนเงินอาจจะเสีย 2 ยูโร เป็นต้น ซึ่งแต่ละธนาคารก็ไม่เท่ากัน บางธนาคารก็มีโปรโมชั่น เช่น ถ้าทำธุรกรรมต่อเดือนไม่เกิน 20 ครั้ง ไม่ว่าจะถอนหรือโอน ก็ไม่เสีย Gebühren เสียเพียงแต่ Kontoführung ทุกๆ เดือนเท่านั้น แนะนำว่าถ้าต้องการเปิดบัญชีธนาคารไหนให้เข้าไปสอบถามค่าธรรมเนียมแต่ละธนาคารก่อนนะจ๊ะ
อีกบัญชีหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ Sparkonto (บัญชีออมทรัพย์) บัญชีนี้เอาไว้ให้เราเอาเงินไปฝากธนาคารไว้เฉยๆ เท่านั้น ไม่สามารถทำธุรกรรมโอนหรือหักผ่านบัญชีอะไรได้ แต่ละธนาคารจะมีดอกเบี้ยให้ ขอบอกว่าน้อยถึงน้อยมาก แต่ละธนาคาไม่ต่างกันมาก ประมาณ 0.1-0.001% เท่านั้น และดอกเบี้ยที่ได้รับ จะต้องถูกหักเสียภาษีด้วย 2 อย่างนี้ด้วย คือ Kapitalertragsteuer (ภาษีดอกเบี้ยรับ) และ Solidaritätszuschlag (ภาษีทหาร) อันนี้เรียกเอง 555 เดี๋ยวจะไปเล่าอีกตอนหนึ่งในเรื่องของภาษีนะจ๊ะ
อีกทางเลือกหนึ่งที่อยากจะแนะนำคือสำหรับคนที่ไม่ต้องการเสียค่า Kontoführung คือเปิดบัญชีกับธนาคารออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วบัญชี Girokonto จะฟรีค่า Kontoführung เมื่อ 3 ปีก่อน อรเองเปิดบัญชีกับธนาคารออนไลน์(ING) เพราะไม่อยากเสียค่า Kontoführung แต่เพิ่งจะมีปีนี้2020 ที่ธนาคารจะเริ่มเก็บค่า Kontoführung ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีนี้เป็นต้นไป ถ้ามีเงินเข้าบัญชีแต่ละเดือนไม่ถึง 700 ยูโร แต่ก็ยังมีอีกหลายธนาคารที่ฟรีค่า Kontoführung ยังไงลองเสิทหาข้อมูลในอากู๋ดูก่อนก็ได้ เช่นคีย์คำว่า online banking vergleich (เปรียบเทียบธนาคารออนไลน์) หรือ beste online bank deutschland (ธนาคารออนไลน์ที่ดีที่สุดในเยอรมัน) ก็จะมีรายชื่อธนาคารออนไลน์ขึ้นมาให้เราเลือกอ่านข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้
เรื่องการถอนเงินก็ง่ายมาก จะถอนกับตู้เอทีเอ็ม Geldautomat ของธนาคารอื่นก็ได้ แต่จะเสียค่าธรรมเนียม หรือจะถอนเงินกับซุปเปอร์มาร์คต่างๆ เช่น Norma, Aldi, Lidi, Kaufland โดยเราซื้อของเกิน 5-10 ยูโรขึ้นไป และชำระด้วยบัตร EC-card (บัตรเดบิต) ก็สามารถถอนเงินจาก บัญชี Girokonto ของเราได้สูงสุด 200 ยูโรต่อครั้งได้เลย สะดวกมาก ซึ่งอรก็ใช้วิธีนี้ตลอดไม่เคยต้องเสียค่าธรรมเนียมในการถอนเงินสดเลยค่า 555
ข้อดีที่อรญาได้จากการใช้ธนาคารออนไลน์คือ สะดวก ปลอดภัย (เท่าที่ใช้มา 2-3ปี ไม่เคยมีปัญาหาอะไรเลย) ประหยัดเวลา เราทำทุกอย่างเองด้วยปลายนิ้ว ทำเวลาไหนก็ได้ จะโอนเงิน หรือจะเช็คยอดเงินเข้า ก็สามารถเช็คได้เองจาก App ที่ธนาคารให้เราดาวน์โหลดลงมือถือ เหมือนมีธนาคารติดตัวไปตลอดเวลา คือเข้ากับไลฟ์สไตล์ของอรญา เป็นอย่างดี 555
บทความนี้อาจจะยาวไปสักนิดนะคะ แต่อยากเขียนให้ทุกคนได้รับรู้ข้อมูลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับใครที่ไม่ชอบอ่านเกิน 7 บรรทัด 555 ก็สามารถฟังคลิปที่อรญาได้ทำแชร์ไว้ที่ช่อง Youtube ได้เลยนะคะ ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านนะคะ จุ๊บ จุ๊บ 🙂